วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เดินกะลา

เดินกะลา เป็นการละเล่นเด็กไทย โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปตามท้องถิ่น ซึ่งผู้ใหญ่มักทำให้เด็กๆ เล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน, เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และเป็นการฝึกการทรงตัวอีกด้วย

วิธีการทำ
การทำเดินกะลานั้นง่ายมาก สามารถหาวัสดุอุปกรณ์ได้ทั่วไปตามท้องถิ่น (ในชนบท)
อุปกรณ์
เชือก: ยาวประมาณ 1 วา - 1 วา ครึ่ง แล้วแต่ความถนัดของผู้เล่น
กะลา
มะพร้าวแก่: 2 อัน

ขั้นตอนการทำ
1. ผ่ากะลาครึ่งซีก แล้วเจาะรูที่ก้นกะลา
2. นำเชือกมาร้อยผ่านรูกะลาอันหนึ่ง
3. มัดเป็นปมขั้นรูกะลา
4. ทำอีกข้างหนึ่งเช่นเดียวกัน เป็นอันเสร็จสมบูรณ์


วิธีการเล่น
ผู้เล่นขึ้นไปยืนบนกะลาที่ทำเสร็จแล้ว สอดนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้หนีบเส้นเชือก (คล้ายใส่รองเท้าแตะ) ใช้มือทั้งสองข้างจับเชือกตรงกลางเพื่อทรงตัวขณะเดิน แล้วเดินแข่งกัน คนไหนถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าระหว่างที่เดินไปคนใดเท้าตกจากกะลาไปถูกพื้นก็เป็นผู้แพ้

ประโยชน์

1. เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา
2. ฝึกการทรงตัวในเด็ก
3. ส่งเสริมด้านสังคม และ อารมณ์ ในกรณีที่มีการแข่งขัน จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์แก่บุคคลรอบกาย รู้รักสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬา
4. รักษาประเพณีพื้นบ้านของไทย